Photo credit : SeaPics.com
แอดมินแอนไปอ่านข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เลยเอามาแชร์
การแพร่กระจายของปลาวาฬและโลมาในน่านน้ำไทย
ปลาวาฬและโลมาเท่าที่พบทั่วไปในน่านน้ำประเทศไทย หากแบ่งตามแหล่งที่อยู่อาศัย สามารถแบ่งได้ 3 ประเภท คือ
- ชนิดที่อาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย (inland-coastal species) ได้แก่ โลมาอิระวดี (Ocaella breviorstris)
- ชนิดที่อาศัยบริเวณชายฝั่งปากแม่น้ำ (coastal Species) ได้แก่ โลมาเผือก (Sousa chinensis) โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Neophocaena phocaenoides)
- ชนิดที่อยู่ในทะเลเปิด (oceanic species) ซึ่งพบเฉพาะทางฝั่งทะเลอันดามันเท่านั้น ได้แก่ กลุ่มวาฬหัวทุย (Macrocephalus physeter) โลมาแถบ (Stenella coeruleoalba) วาฬหัวแตงโม (Peponocephala electra) วาฬฟันสองซี่ (Mesoplodon ginkgodens) เป็นต้น
มาดูรูปกันดีกว่า โลมาอิระวดี (Ocaella breviorstris) Photo credit :Roland Seitre
โลมาเผือก (Sousa chinensis) , Photo credit : Aquabio
โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Neophocaena phocaenoides) Photo credit :Kurobutiaqua
การดำรงชีวิตของปลาวาฬและโลมา
การหาอาหาร
ในการหาอาหาร จะออกล่าเหยื่อกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งอาจจะมีสมาชิก 3 – 40 ตัว ตัวเมียและตัวที่มีอายุน้อยจะว่ายอยู่ใกล้ๆ กัน ตัวผู้จะว่ายนำหน้าห่างออกไปในกรณีที่มีการย้ายที่หาอาหาร ในยามที่มีความสุขฝูงวาฬพิฆาตมักจะกระโดดน้ำ ฟาดหัวฟาดหางให้เห็นเป็นครั้งคราว เมื่อถึงยามสืบพันธุ์ ปลาวาฬตัวเมียจะคลอดลูกเป็นตัว ใช้เวลาตั้งท้องทีละตัว หลังจากตั้งท้องนาน 1 ปี และทันทีที่คลอดลูกออกมาแม่ปลาวาฬจะใช้ลำตัวดันลูกขึ้นสู่ผิวน้ำ เพื่อสูดอากาศเข้าปอดเป็นครั้งแรกของชีวิต แม่ปลาวาฬจะให้ลูกดูดนมเป็นอาหารเลี้ยงตัวจนกระทั่งลูกขนาดใหญ่พอสมควรจึงหย่านม
Photo credit : Christopher Swann
การนอน
การนอนของปลาวาฬและโลมา ไม่มีระยะเวลาในการนอนที่ยาวนานเหมือนกับมนุษย์หรือสัตว์โดยทั่วไป เป็นเพียงแต่การพักผ่อนกล้ามเนื้อในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เมื่อโลมานอนหลับจะใช้สมองในบางส่วนเพื่อพักผ่อนและอีกส่วนหนึ่งจะใช้ในกระบวนการหายใจให้เป็นปกติ โดยวิธีการนอนของโลมา มันจะคู้ตัว โดยเอาศีรษะและส่วนหางจมอยู่ในน้ำ ส่วนหลังลอยตัวอยู่บนผิวน้ำประมาณ 1 นาที การว่ายน้ำไปในกลุ่มอย่างเงียบๆ โดยอาศัยช่วงระยะเวลาที่ไม่มีภัยคุกคามเป็นการพักผ่อนกล้ามเนื้อไปในตัว หรือการกบดานใต้พื้นน้ำ เป็นการพักผ่อนในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งมีทั้งการหลับตาทั้งสองข้างหรือลืมตาข้างใดข้างหนึ่ง
การใช้สัญญาณเสียงในการสื่อสาร
การใช้สัญญาณเสียง คือ การปล่อยสัญญาณเสียงที่มีคลื่นความถี่สูง ซึ่งถูกส่งจากบริเวณ Melon gland บนส่วนหัวออกไปด้านหน้า เมื่อไปกระทบกับวัตถุที่ขวางอยู่ เสียงนั้นก็จะสะท้อนกลับมาสู่ตัวรับสัญญาณซึ่งอยู่ใต้ขากรรไกร แล้วส่งต่อไปยังส่วนหูตอนใน เพื่อให้สมองแปลงสัญญาณคลื่นเสียงนั้นว่าเป็นวัตถุชนิดใด ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับระบบโซนาร์ที่ใช้ในปัจจุบัน ประโยชน์จากการใช้สัญญาณเสียง คือ
1) ใช้แทนการมองเห็นสภาพแวดล้อมใต้น้ำในสภาวะที่มีความขุ่นของน้ำและแสงสว่างไม่เพียงพอ
2) ช่วยในการบอกทิศทางและตำแหน่งของอาหาร
3) ติดต่อสื่อสารระหว่างกันในกลุ่ม รวมถึงการกระตุ้นลูกโลมาแรกเกิดให้จำเสียงแม่ได้
4) การเตือนภัยด้วยสัญญาณเสียง
การสืบพันธุ์ของปลาวาฬและโลมา
โดยธรรมชาติแล้วปลาวาฬและโลมาเพศผู้จะมีแรงขับทางเพศสูง ทำให้วันหนึ่งๆ สามารถผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง ทว่าอาจจะไม่ใช่พ่อพันธุ์ที่ดีอย่างที่คิด เพราะเพียงแค่ 12 วินาที การผสมพันธุ์ก็เสร็จสิ้น ตามสรีระแล้ว อวัยวะเพศของปลาวาฬและโลมาหดอยู่ในตัว จะแสดงออกมาก็ต่อเมื่อได้รับแรงกระตุ้น อีกทั้งองคชาติของโลมายังสามารถหมุนไปรอบๆ ซึ่งปลาวาฬและโลมาตัวผู้สามารถใช้อวัยวะนี้คลำสำรวจสัมผัสสิ่งต่างๆ ใต้น้ำได้ ทั้งนี้ เมื่อปลาวาฬและโลมาเพศผู้เป็นสัตว์ที่มีความต้องการจะผสมพันธุ์อยู่บ่อยๆ มันก็จะพยายามประกบตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ หลังจากการผสมพันธุ์แล้วจะมีการปฎิสนธิภายใน จากนั้นโลมาและวาฬจะตั้งท้องเป็นเวลา 12 เดือน และคลอดลูกออกมา
ลูกปลาวาฬและโลมาแรกเกิดจะมีขนาดเมื่อเทียบกับตัวแม่ค่อนข้างใหญ่กว่าสัตว์ชนิดอื่น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษา อุณหภูมิในร่างกาย ลูกปลาวาฬและโลมาบางชนิดมีขนอยู่ 2 ข้างของแนวปากบน (snout) และจะหดหายไปเมื่อโตขึ้น ปลาวาฬและโลมาส่วนใหญ่คลอดลูกโดยส่วนหางออกมาก่อน เพื่อให้ส่วนของช่องหายใจเป็นส่วนสุดท้ายที่ออกมาสัมผัสน้ำทะเล และสามารถว่ายน้ำได้ทันที โดยโผล่ขึ้นมาสูดอากาศหายใจครั้งแรกในทันทีที่คลอด ลูกแรกเกิดมีขนาดใหญ่ประมาณ 40% ของแม่ ลูกปลาวาฬและโลมาจะว่ายไปกับแม่และรับอาหารจากต่อมน้ำนม (mammary slit) ซึ่งอยู่สองข้างของช่องเพศโดยหัวนมมีกล้ามเนื้อ ยึดรอบสำหรับบีบตัวให้หัวนมโผล่ออกมาขณะให้นมลูก และดึงหัวนมกลับซ่อนในลำตัวเมื่อเสร็จจากการให้นม ปลาวาฬและโลมาจะมีระยะเวลาหย่านมนานมาก ทั่วไปจะมีระยะหย่านมนานประมาณ 2 ปี
Photo credit : VR-Zone
การปรับตัวของปลาวาฬและโลมา
ปลาวาฬและโลมามีการปรับตัวหลายๆ ประการเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในน้ำ เช่น มีวิวัฒนาการรูปร่างให้เพรียวทำให้สามารถว่ายน้ำได้เร็ว และเนื่องจากยังใช้ปอดในการหายใจ จมูกหรือช่องหายใจจึงเลื่อนไปอยู่บนสุดของส่วนหัวเพื่อสะดวกในการหายใจ ท่อหายใจกับช่องปากแยกกันเพื่อสะดวกในการกินอาหารใต้น้ำ มีการปรับปรุงระบบควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้อบอุ่นทดแทนขน ซึ่งลดรูปไปเนื่องจากไม่เหมาะสมในการใช้งานใต้น้ำ โดยการมีลักษณะลำตัวเรียวคล้ายตอร์ปิโดทำให้มีอัตราส่วนระหว่างพื้นที่ผิวต่อปริมาตรต่ำ เป็นการลดพื้นที่ที่สัมผัสน้ำ การปรับปรุงโดยเพิ่มชั้นไขมัน (blubber) ใต้ผิวหนังให้หนาขึ้นเป็นฉนวนกันความร้อน โดยในชั้นไขมันจะมีเส้นเลือดหล่อเลี้ยงน้อยป้องกันการแลกเปลี่ยนอุณหภูมิกับน้ำ ระบบเส้นเลือดดำจะถูกล้อมด้วยเส้นเลือดแดงซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่า นอกจากนั้นการปรับตัวโดยลดอัตราการหายใจลง เป็นการลดการสูญเสียความร้อนที่ออกมากับอากาศและเป็นผลให้ปลาวาฬและโลมาสามารถดำน้ำได้นาน โดยเฉพาะวาฬหัวทุย (Physeter macrocephalus) สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 3,000 เมตร ลูกปลาวาฬและโลมาแรกเกิดจะมีขนาดเมื่อเทียบกับตัวแม่ค่อนข้างใหญ่กว่าสัตว์ชนิดอื่น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาอุณหภูมิในร่างกาย
สายตาของปลาวาฬและโลมาสามารถรับภาพได้ดีทั้งในน้ำและบนบก หลักฐานจากการฝึกโลมาต่างๆ การแสดงของโลมาจะทำตามลักษณะการเคลื่อนไหวหรือโบกมือของผู้ฝึก โดยเฉพาะในขณะที่โลมากระโดดขึ้นมารับอาหารจากมือผู้ฝึกในระยะสูงได้อย่างแม่นยำ แสดงให้เห็นว่าสายตาของโลมาสามารถมองเห็นภาพบนบกได้ชัดเจน จากลักษณะโครงสร้างของสมองปลาวาฬและโลมา แสดงว่าปลาวาฬและโลมาส่วนใหญ่ไม่มีประสาทในการรับกลิ่นจมูก จึงเลื่อนมาอยู่ส่วนกลางของหัว เนื่องจากไม่จำเป็นในการใช้รับกลิ่น แต่จะสะดวกในการหายใจเหนือผิวน้ำ โดยจะโผล่พ้นน้ำเพียงเล็กน้อยก็สามารถหายใจได้
ปลาวาฬและโลมาจัดเป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีการสื่อสารระหว่างกันได้โดยใช้เสียง โดยเฉพาะในกลุ่มของปลาวาฬและโลมาที่มีฟัน (toothed whales) สามารถใช้ระบบส่งและรับสัญญาณเสียงที่สะท้อนกลับมา (echo) ซึ่งใช้ในการรับรู้สภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว และการหาอาหาร อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานการส่งสัญญาณเสียงโดยระบบ echo ในกลุ่มของปลาวาฬและโลมาที่ไม่มีฟันสัญญาณอีกลักษณะหนึ่งซึ่งใช้ในการสื่อสารระหว่างกลุ่มคือการส่งสัญญาณคลื่นเสียงช่วงความถี่ตั้งแต่ 0-3,000 Hz ไกลถึงหลายสิบกิโลเมตร แตกต่างกันในแต่ละชนิด และสามารถรับส่งสัญญาณกันได้